ชาวเน็ตถาม หากติดโฟมตัวไขลานที่รถ แล้วมีความผิด รถพุ่มพวงจะมีความผิดด้วยหรือไม่ เพราะมีถุงกับข้าว-เครื่องขยายเสียงอยู่นอกตัวรถ บิ๊กจราจร แจง ให้พิจารณาเป็นรายคันไป หากบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดจะเป็นการรังแกประชาชน
จากกรณีที่มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการติดอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์อย่าง โฟมรูปตัวไขลาน ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าควรติดได้หรือไม่นั้น ทางกรมการขนส่งทางบก ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า หากการติดตั้งอุปกรณ์เสริมนั้นไม่มั่นคงแข็งแรง และบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ ส่งให้เสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดบนท้องถนนนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ดี หากการติดตั้งอุปกรณ์เสริมไม่สร้างผลกระทบบนท้องถนนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น [อ่านข่าว : ขนส่งแจง ตัวไขลาน ติดที่รถได้ แต่ห้ามหล่น-บดบังทัศนวิสัย คลิก] เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ ยิ่งรัก ยิ่งลุ่มหลง ออกมาโพสต์รูปภาพและข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการติดโฟมไขลานไว้ที่รถ เปรียบเทียบกับกรณีรถขายของอย่าง "รถพุ่มพวง" โดยระบุว่า กรณีที่ห้ามติดตัวไขลานนั้นเจ้าหน้าที่ทำถูกแล้วซึ่งหากขณะที่ขับรถ อุปกรณ์ดังกล่าวร่วงลงมาแล้ว รถที่ขับตามหลังจะทำอย่างไร และคิดอย่างไรถึงติดกัน เคยคิดไหมว่าที่ติดกันแล้วได้ประโยชน์อะไร เหมือนกับรถขายกับข้าวที่เรียกว่า "รถพุ่มพวง" ซึ่งเวลาวิ่งขาย บางครั้งก็จะเปิดเพลงผ่านลำโพงที่ติดตั้งบนตัวรถ พร้อมพูดเรียกลูกค้าผ่านเครื่องขยายเสียง แถมยังมีถุงกับข้าวห้อยอยู่นอกตัวรถ อีกทั้งหากรถดังกล่าววิ่งด้วยความเร็วสูงบนทางด่วนนั้นจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือไม่
ล่าสุด (14 สิงหาคม 2558) ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต. อภิสิทธิ์ เมืองเกษม ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) กล่าวว่า ต้องพิจารณาดูตามสภาพ เพราะผู้ประกอบอาชีพขายของด้วยรถพุ่มพวง ส่วนใหญ่จะเดินรถขายบริเวณหมู่บ้าน หรือตามตรอกซอกซอย ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน แต่หากมองถึงประเด็นการใช้เครื่องขยายเสียง จนสร้างความรำคาญแก่ประชาชนนั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต. อภิสิทธิ์ ระบุว่า หากจะบังคับใช้กฎหมายกับรถพุ่มพวงทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เกิดปัญหา อาจจะเป็นการรังแกประชาชนเกินไป ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ระบุว่า การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @TNAMCOT ,เฟซบุ๊ก ยิ่งรัก ยิ่งลุ่มหลง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น